หน้าแรกTrade insight > เงินเฟ้อไทยกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน

เงินเฟ้อไทยกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน

เงินเฟ้อไทยกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน 

          นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนเมษายน 2567 เท่ากับ 108.16 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.96 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.19 (YoY) กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก สินค้าเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะผักสด และผลไม้สด ออกสู่ตลาดลดลงและราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ    

          อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงร้อยละ 0.47 ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 137 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน)  

          อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นร้อยละ 0.19 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

          หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.28 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด (แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักชี ผักคะน้า ผักกาดขาว ต้นหอม) ผลไม้สด (กล้วยหอม องุ่น สับปะรด) ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง อาหารบริโภคในบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว อาหารว่าง ข้าวแกง/ข้าวกล่อง) ตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ขณะที่ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ปลาทู น้ำมันพืช และกระเทียม เป็นต้น

          หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.12 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ 95 91 และ E20 น้ำมันเบนซิน 95) ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน กระดาษชำระ) เนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชัน ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (สุรา บุหรี่ ไวน์) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันดีเซล ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เสื้อยืดบุรุษและสตรี และเสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี เป็นต้น

          เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.37 (YoY) ทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนหน้า

          ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.85 (MoM) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.19 ปรับสูงขึ้นตามราคาผักสด (มะนาว ถั่วฝักยาว แตงกวา ผักชี ผักคะน้า ต้นหอม) ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผลไม้สด (เงาะ ทุเรียน มังคุด) และกาแฟผงสำเร็จรูป ขณะที่ ข้าวสารเจ้า แป้งข้าวเจ้า ปลาทู และกระเทียม ราคาปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมา และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.61 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 น้ำมันดีเซล) ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก และการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ของใช้ส่วนบุคคล (โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน ผ้าอนามัย) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน) และค่าเช่าบ้าน อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง อาทิ ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เสื้อเชิ้ตบุรุษ เครื่องถวายพระ และน้ำหอม เป็นต้น

          ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 4 เดือน (มกราคม – เมษายน) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ลดลงร้อยละ 0.55 (AoA)

          แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญจาก (1) ฐานราคาค่ากระแสไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดของปี 2566 (2) ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งไข่ไก่ เนื้อสุกร ผัก และผลไม้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ (3) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับมีการปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ (4) ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น และ (5) ผู้ประกอบการมีแรงกดดันจากต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยังมีปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการบางชนิดยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำ และ (2) การแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีการแข่งขันและใช้นโยบายส่งเสริมการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง 

          ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 – 1.0 (ค่ากลางร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง

          ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนเมษายน 2567 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.9 จากระดับ 54.1 ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 (ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) เป็นการปรับลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) สาเหตุมาจาก (1) สถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ว่าจะได้รับปัจจัยหนุนมาจากเทศกาลสงกรานต์ และ (2) ความกังวลต่อภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น อาทิ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษาเนื่องจากใกล้เปิดภาคเรียน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีหลายรายการ จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนียังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น

—————————————————–

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า 
กระทรวงพาณิชย์
3 พฤษภาคม 2567

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login